บทสรุปเชิงนโยบาย POLICY BRIEF ฉบับที่ 4 ปี 2565 เรื่อง การสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐ

ผู้แต่ง :
ปรียวรรณ สุวรรณสูนย์, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
วิลาสิณี ฉายรัตน์ตระกูล, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
จำนวนหน้า :
12
ปีที่พิมพ์ :
2565

 

ประเด็นปัญหาด้านภาษีถือเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุตามทิศทางหรือกรอบของการพัฒนาประเทศ เพราะภาษีถือเป็นแหล่งรายได้หลักของรัฐที่จะช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจัดสวัสดิการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น จำเป็นต้องจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ดังนั้น จึงได้มีข้อเสนอเพื่อหาแนวทางการสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐเพื่อให้แผนงบประมาณประเทศกลับมาสมดุลอีกครั้ง สามารถแบ่งเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและข้อเสนอเชิงกฎหมาย ดังนี้

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

1. ภาครัฐควรเพิ่มการขาดดุลดิจิทัลเข้าไปในการคำนวณเชิงเศรษฐกิจของประเทศ

2. ภาครัฐควรร่วมมือกับเอกชนเพื่อพัฒนาบริการดิจิทัลเซอร์วิสขึ้นมาให้กับคนไทยใช้

3. ภาครัฐควรขยายจำนวนผู้เสียภาษีให้เพิ่มขึ้น

4. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินควรจะตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐด้านรายงานการเงินอย่างเข้มงวดตามอำนาจหน้าที่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561

5. ภาครัฐควรเพิ่มการจัดเก็บภาษีจาก Capital Gain หรือรายได้ที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าสินทรัพย์ที่ถือครองอยู่

6. ภาครัฐควรเร่งรัดการขยายความครอบคลุมของระบบประกันสังคม

7. ภาครัฐควรนำนโยบายระบบเครดิตสังคม (Social Credit System) มาปรับใช้กับพฤติกรรมการเสียภาษีของประชาชน

8. ภาครัฐควรส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวางแผนภาษี

9. รัฐสภาในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติควรมีการพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีอย่างรอบคอบ

ข้อเสนอแนะเชิงกฎหมาย

1. ภาครัฐควรมีกฎหมายต่อต้านการเลี่ยงภาษี (Anti Tax Avoidance Law) เพื่อมิให้มีการเลี่ยงภาษีที่ยอมรับไม่ได้

2. ภาครัฐควรมีการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี

3. ภาครัฐควรจัดให้มีการประเมินผลการบังคับใช้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 หรือการเก็บภาษีสำหรับคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล

 

อย่างไรก็ตาม ในการสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐ เมื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวของต่างประเทศ พบว่า ประเทศไทยไม่สามารถใช้แนวทางหรือมาตรการของต่างประเทศได้ เนื่องจากไทยมีปัจจัยภายในประเทศที่มีลักษณะเฉพาะ กล่าวคือ มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงและมีสัดส่วนของแรงงานนอกระบบสูงทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ดังนั้น การจัดเก็บรายได้เข้ารัฐที่เหมาะสมกับประเทศไทยควรจัดเก็บภาษีจากฐานรายได้และฐานทรัพย์สินจากผู้มีรายได้สูงมากกว่าการจัดเก็บภาษีจากฐานบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ที่มีรายได้น้อยจนถึงผู้ที่มีรายได้น้อยที่สุดที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่จะช่วยสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐ ให้เกิดการจัดสรรและกระจายทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม