ถอนคำพูด หมายถึง ยกเลิกคำที่พูดไปแล้วให้เป็นเหมือนว่าไม่เคยพูดคำนั้นมาก่อน เมื่อสมาชิกได้อภิปรายหรือกล่าวถ้อยคำใดในสภาอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับ จนทำให้ประธานในที่ประชุมสภาสั่งให้ถอนคำพูด หรือมีผู้ประท้วงว่าได้ถูกกล่าวพาดพิงที่ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งสมาชิกผู้อภิปรายอาจถอนคำพูดเองโดยประธานในที่ประชุมไม่ต้องสั่งก็ได้ เพื่อไม่ให้มีการจดบันทึกถ้อยคำที่พูดนั้นในรายงานการประชุมสภา
ข้อบังคับการประชุมสภาจะกำหนดหลักเกณฑ์ที่ใช้ควบคุมการอภิปรายของสมาชิก โดยการอภิปรายต้องอยู่ในประเด็นหรือเกี่ยวกับประเด็นที่กำลังปรึกษากันอยู่ ต้องไม่ฟุ่มเฟือย วนเวียน ซ้ำซาก หรือซ้ำกับผู้อื่น และห้ามไม่ให้นำเอกสารใด ๆ มาอ่านให้ที่ประชุมฟัง โดยไม่จำเป็น และห้ามไม่ให้นำวัตถุใด ๆ เข้ามาแสดงในที่ประชุม เว้นแต่ประธานจะอนุญาต
ห้ามผู้อภิปรายแสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้าย หรือเสียดสีบุคคลใด และห้ามกล่าวถึงพระมหากษัตริย์หรือออกชื่อสมาชิกหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็น (ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 69)
ในกรณีที่มีผู้ประท้วงว่ามีการฝ่าฝืนข้อบังคับ ผู้อภิปรายอาจถอนคำพูดของตนหรือตามคำวินิจฉัยของประธานได้ ถ้าผู้อภิปรายออกไปจากที่ประชุมโดยไม่ถอนคำพูดตามคำวินิจฉัยของประธาน ให้ประธานบันทึกการไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยไว้ในรายงานการประชุม (ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 72)
ผู้ใดฝ่าฝืนข้อบังคับการประชุมสภา ประธานมีอำนาจเตือน ห้ามปราม ให้ถอนคำพูด ห้ามพูดในเรื่องที่กำลังปรึกษากันอยู่ ให้กล่าวขออภัยในที่ประชุม หรือสั่งให้ออกไปจากที่ประชุมโดยมีหรือไม่มีกำหนดเวลาในครั้งนั้นก็ได้
ในกรณีที่ประธานสั่งให้ผู้ใดออกจากที่ประชุม หากผู้นั้นขัดขืน ประธานมีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภานำตัวออกจากสถานที่ประชุมของสภาหรือออกไปให้พ้นบริเวณสภา ทั้งนี้ วิธีการหรือขั้นตอนการนำตัวผู้ที่ประธานสั่งให้ออกจากที่ประชุม ให้เป็นไปตามระเบียบที่ประธานสภากำหนด
อ่านเพิ่มเติม
อ่านศัพท์รัฐสภาไทย : ถอนคำพูด
สงวนลิขสิทธิ์ © 2565 หอสมุดรัฐสภา
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
เลขที่ 1111 ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทรศัพท์ : +66(0) 2242 5900 ต่อ 5711, 5714, 5721-22 โทรสาร : +66(0) 2242 5990
อีเมล : library@parliament.go.th