เกษตรคาร์บอนต่ำสู่การเกษตรที่ยั่งยืน

ผู้เรียบเรียง :
พรรณทิภา นิลโสภณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2566-07
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

แนวคิดเรื่องคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) หมายถึง การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและกำลังเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก โดยกระบวนการผลิตของภาคเกษตรกรรมได้ส่งผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งโลก ดังนั้น องค์การสหประชาชาติจึงได้จัดทำเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ทั้งหมด 17 ข้อ โดยกำหนดเป้าหมายที่ 2 คือ ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งมีเป้าประสงค์ที่ 2.4 คือ สร้างหลักประกันระบบการผลิตที่ยั่งยืนและสามารถนำไปปรับใช้ในระบบการเกษตรที่สามารถเพิ่มผลผลิตและการผลิตได้ ช่วยรักษาระบบนิเวศที่เพิ่มความเข้มแข็งในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศที่รุนแรง ความแห้งแล้ง น้ำท่วม และภัยพิบัติอื่น ๆ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อคุณภาพพื้นที่และดิน ภายในปี 2573 

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมได้ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) จากภาคเกษตรกรรม โดยกรมวิชาการเกษตรได้จัดทำแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร 2 แนวทาง ประกอบด้วย 1) การจัดทำต้นแบบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตพืช โดยมีแนวทางการดำเนินงานในพืชเป้าหมายที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา และไม้ผล ซึ่งจะดำเนินการพัฒนาเป็นโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ และ 2) การพัฒนากรมวิชาการเกษตรเพื่อเป็นหน่วยงานตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตภาคเกษตร โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานในการตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้และการเกษตร ทั้งนี้ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรที่คุ้มทุนที่สุด คือ การจัดการพื้นที่เพาะปลูกและการฟื้นฟูดินอินทรีย์เพิ่มการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในดิน เช่น การเพาะปลูกข้าวเป็นกิจกรรมสำคัญที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพาะปลูกข้าว 1 ไร่ อาจเกิดก๊าซมีเทนได้ตั้งแต่หลักสิบถึงหลักพันกิโลคาร์บอน และก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่ากับการใช้น้ำมันตั้งแต่ 1 - 100 ลิตร โครงการไทยไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้การเพาะปลูกข้าวที่ไม่ให้น้ำขัง โดยปรับเปลี่ยนกระบวนการเพาะปลูกข้าวด้วยวิธีการ 4 ขั้นตอนหลัก ดังนี้ 

  1. 1) การปรับพื้นที่นาด้วยเลเซอร์ให้เรียบเสมอกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก 
  2. 2) การจัดการน้ำสำหรับเพาะปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง โดยไม่ปล่อยให้น้ำขังอยู่ในพื้นที่นาตลอดเวลาช่วยลดการใช้น้ำในการเพาะปลูกสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 30 เทียบกับวิธีการเพาะปลูกข้าวตามปกติ 
  3. 3) การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินช่วยลดก๊าซไนตรัสออกไซด์จากดิน
  4. 4) การจัดการฟางและตอซังด้วยน้ำหมักแทนการเผา ซึ่งการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตของภาคเกษตรกรรมนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามารถนำคาร์บอนเครดิตไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิตต่อไปได้

นอกจากนั้น ยังมีความสอดคล้องกับระบบเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Agriculture System) เป็นระบบการเกษตรที่ครอบคลุมถึงวิถีชีวิตเกษตรกร กระบวนการผลิตและการจัดการทุกรูปแบบเพื่อให้เกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ซึ่งนำไปสู่การพึ่งตนเองและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภค ความยั่งยืนที่เกิดขึ้นจากการทำระบบเกษตรกรรมยั่งยืนสามารถแบ่งออกเป็น 3 มิติ ดังนี้

  • 1. ความยั่งยืนทางมิติเศรษฐกิจ มีผลผลิตที่หลากหลายสามารถตอบสนองความจำเป็นพื้นฐาน ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอก เนื่องจากกิจกรรมต่าง ๆ มีการเกื้อกูลกันทำให้เกิดการประหยัด นอกจากนี้ ยังมีการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปรรูป และขยายกิจกรรมทางการตลาด ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันให้กับเกษตรกรในอนาคต 
  • 2. ความยั่งยืนทางมิติสังคม สร้างความปลอดภัยทางอาหารและสุขอนามัย ปลูกจิตสำนึก ใส่ใจ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเกษตร ทำให้เสริมสร้างความเข้มแข็งในระดับครัวเรือนและชุมชน ลดอัตราการอพยพแรงงานและลดปัญหาครอบครัว มีการสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในชุมชน ส่งผลให้เกิดสังคมแห่งความเอื้อเฟื้อเอื้ออาทร และสืบสานวิถีชีวิตวัฒนธรรมชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น
  • 3. ความยั่งยืนทางมิติสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ลดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ รวมไปถึงการอนุรักษ์ ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินและความสมดุลต่อระบบนิเวศในพื้นที่ 

ดังนั้น การปรับตัวของภาคเกษตรกรรมสู่เกษตรคาร์บอนต่ำด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นรักษาระบบนิเวศ จะเป็นการยกระดับกระบวนการผลิตของภาคเกษตรกรรมให้มีผลผลิตทางการเกษตรด้วยมาตรฐานที่สูงขึ้น จะเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตร และส่งผลต่อเนื่องไปถึงการส่งออกสินค้าทางการเกษตรให้ได้มาตรฐานระดับโลกที่นำประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเงื่อนไขในการกำหนดมาตรฐานสินค้าสำหรับการค้าระหว่างประเทศ จึงเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรส่งผลให้มีความยั่งยืนทางมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ รวมทั้งบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทาง Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติต่อไป

ภาพปก