กองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ

ผู้เรียบเรียง :
วิชาญ ทรายอ่อน, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2567-03
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2528 ส่งผลให้รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและระเบียบปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆ เพื่อมิให้มีการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ซึ่งการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมมีส่วนสำคัญในการก่อให้เกิดปัญหาในการเข้าถึงผลประโยชน์และการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ในสังคมไทยและสังคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทที่เกี่ยวข้องกับสตรีและกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งผู้ด้อยโอกาสในการรับบริการต่าง ๆ ของรัฐ

รัฐไทยจึงได้ตราพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 9 กันยายน 2558 มีเป้าหมายในการให้ความคุ้มครองแก่เพศหญิง เพศชาย รวมทั้งบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศให้สามารถดำรงสถานะของตนอยู่ในสังคมไทยได้อย่างเท่าเทียมเสมอหน้ากัน อีกทั้งยังต้องการเปิดช่องทางที่สะดวกและรวดเร็วเพื่อร้องขอความเป็นธรรมให้กับผู้ตกเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ กฎหมายฉบับนี้ได้สร้างกลไกไว้สามส่วน คือ 

  1. 1) คณะกรรมการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ (สทพ.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติมีอำนาจวางนโยบายและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในระดับโครงสร้าง 
  2. 2) คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) มีอำนาจในการพิจารณาคำร้องว่าด้วยการเลือกปฏิบัติ และ 
  3. 3) กองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ 

กองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ มีวัตถุประสงค์ 

  1. 1) เพื่อกิจกรรมหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ 
  2. 2) เพื่อคุ้มครองและป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ 
  3. 3) เพื่อช่วยเหลือ ชดเชยและเยียวยา หรือบรรเทาทุกข์แก่บุคคลซึ่งตกเป็นผู้เสียหายจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ 
  4. 4) เพื่อการสอดส่องดูแลและให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ 
  5. 5) เพื่อส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และ 
  6. 6) เพื่อการติดต่อและประสานงานกับบุคคล หน่วยงาน หรือองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน 

กองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ มีรายได้มาจากงบประมาณแผ่นดินและเงินบริจาค ข้อมูลจากเอกสารงบประมาณ สำนักงบประมาณ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2566 ได้รับงบประมาณเป็นทุนหมุนเวียนปีละ 5 ล้านบาท แต่ตามข้อมูลในเอกสารปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้รับงบประมาณจากรัฐจำนวน 15 ล้านบาท

ผู้มีคุณสมบัติขอรับเงินสนับสนุนจะต้องเป็นมูลนิธิ สมาคม ชมรม องค์กรสาธารณประโยชน์หรือ องค์กรสวัสดิการชุมชน หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรเอกชน ซึ่งมีผลงานหรือวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการหรือมีโครงการเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ หรือเพื่อคุ้มครองและป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ หรือเพื่อส่งเสริมการศึกษา การวิจัยและการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ โครงการที่กองทุนฯ สนับสนุนมี 4 ระดับ ดังนี้ 

  1. 1) โครงการขนาดเล็ก โครงการที่ขอรับเงินสนับสนุนไม่เกิน 50,000 บาท 
  2. 2) โครงการขนาดกลาง โครงการที่ขอรับเงินสนับสนุนเกิน 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท  
  3. 3) โครงการขนาดใหญ่ โครงการที่ขอรับเงินสนับสนุนเกิน 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 150,000 บาท และ 
  4. 4) โครงการที่ขอรับเงินสนับสนุนเกิน 150,000 บาท 

ในพื้นที่กรุงเทพมหานครสามารถยื่นโครงการขอรับการสนับสนุนได้ที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดยื่นขอรับการสนับสนุนได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด 76 จังหวัด หรือศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวในเขตพื้นที่รับผิดชอบทั้ง 8 แห่ง การพิจารณาจัดสรรงบประมาณประจำปีกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศนั้น ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งจะพิจารณาอนุมัติกรณีมีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยจะพิจารณาตามความจำเป็น ประหยัด คุ้มค่า เหมาะสมกับสถานที่ กลุ่มเป้าหมาย และกิจกรรมตามระเบียบกระทรวงการคลังกำหนด และหลักเกณฑ์การพิจารณาสนับสนุนโครงการจากกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ

กองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศมีความสําคัญอย่างมากในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างเพศในสังคมไทย โดยกองทุนจะสนับสนุนทั้งในด้านงานวิจัย การจัดอบรมให้ความรู้ การให้คําปรึกษาและช่วยเหลือผู้เสียหายจากการเลือกปฏิบัติทางเพศ รวมถึงผลักดันการปฏิรูปกฎหมายและนโยบายต่าง ๆ เพื่อนําไปสู่ความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่ากองทุนนี้มีความสําคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศในสังคมไทย

ภาพปก