การบริหารราชการส่วนภูมิภาคที่ก่อให้เกิดประสิทธิผลในการพัฒนาประเทศไทย

The provincial administration contributing to the effectiveness of Thailand's development
ผู้แต่ง :
อธิพัฒน์ สินทรโก
มหาวิทยาลัยบูรพา
จำนวนหน้า :
254
ปีที่เผยแพร่ :
2562
ประเภท :
งานวิจัยโดยนิสิต/นักศึกษา
ผู้ให้ทุน/ผู้สนับสนุน :
ได้รับทุนในการวิจัยจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

สาขา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์)
ปีการศึกษา 2561
อาจารย์ที่ปรึกษา : กิจฐเชต ไกรวาส
                           สมชาย ปัญญเจริญ

 

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการบริหารราชการส่วนภูมิภาคที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ปัญหา และอุปสรรคการบริหารราชการส่วนภูมิภาคที่มีผลในการพัฒนาประเทศไทย ปัจจัยความสำเร็จที่ส่งผลต่อประสิทธิผลในการบริหารงานราชการส่วนภูมิภาคของประเทศไทย และเสนอแนะแนวทางการบริหารราชการส่วนภูมิภาคที่ก่อให้เกิดประสิทธิผลในการพัฒนาประเทศไทย โดยผู้วิจัยได้กำหนดวิธีการดำเนินการวิจัยประกอบด้วย การศึกษาจากเอกสาร โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารโดยการทบทวนแนวความคิด ทฤษฎี วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการส่วนภูมิภาค และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ คือ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ตลอดจนบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการส่วนภูมิภาคไทย การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การอรรถาธิบาย

ผลการวิจัยพบว่า จากบริบทและปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของสังคมไทย ทั้งทางด้าน สถานการณ์ทางการเมือง ระบบศึกษา ระบบเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ปัญหา และอุปสรรคสำคัญที่ก่อให้เกิดข้อจำกัดในการบริหารราชการส่วนภูมิภาคในการพัฒนาประเทศไทย มี 7 ด้าน คือ 1) ปัญหาด้านการสั่งการจากบนล่าง 2) ปัญหาด้านงบประมาณกระจุกตัวอยู่ส่วนกลาง 3) ปัญหาด้านบุคลากรไม่เพียงพอต่อภารกิจ 4) ปัญหาด้านการบริหารจัดการอำนาจและขาดอำนาจตัดสินใจ 5) ปัญหาด้านฐานข้อมูล 6) ปัญหาด้านกรอบระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของผู้ว่าราชการ 7) ปัญหาการทุจริตในราชการส่วนภูมิภาค ปัจจัยความสำเร็จที่ก่อให้เกิดประสิทธิผลในการบริหารงานราชการส่วนภูมิภาคของประเทศไทย มีอยู่ 5 ปัจจัยได้แก่ 1) ปัจจัยด้านผู้นำ 2) ปัจจัยด้านการติดตาม และประเมินผล 3) ปัจจัยด้านเทคโนโลยี 4) ปัจจัยด้านการแข่งขันในระดับจังหวัด และ 5) ปัจจัยด้านงบประมาณ และแนวทางการบริหารราชการส่วนภูมิภาคที่ก่อให้เกิดประสิทธิผลมีแนวทางสำคัญ 5 แนวทาง ประกอบด้วย 1) การมอบอำนาจการตัดสินใจให้การบริหารราชการส่วนภูมิภาค 2) จัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับความต้องการของการของการบริหารราชการส่วนภูมิภาค 3) โครงสร้างในการบริหารราชการส่วนภูมิภาคต้องมีความกระชับและขอบข่ายงานที่ชัดเจน 4) ลดขนาดส่วนกลางและให้สำคัญกับการบริหารในเชิงพื้นที่ (Area based) และ 5) การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม การรับฟังปัญหา และความต้องการของประชาชน